9 สิ่งต้องรู้ก่อน ทำประกันชีวิตในยุคปัจุบัน
- Better CAll Nika
- 26 ก.ค. 2567
- ยาว 1 นาที

การทำประกันชีวิตเป็นการวางแผนทางการเงินที่สำคัญ เพื่อความมั่นคงของครอบครัวและคนที่รักในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน แต่การเลือกซื้อประกันชีวิตต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับตนเอง
ผู้เขียนมีโอกาสลงสำรวจแม่ค้าที่ตลาดโซนกะรน จังหวัดภูเก็ต ผู้เขียนและเพื่อนๆพี่ๆ ทีมงาน ทำแบบสำรวจคร่าวๆค่ะ ก็ได้รับความคิดเห็นต่างๆ ถึงสิ่งที่ได้รับหลังจากทำประกันชีวิต ในลักษณะการออมเงิน และประกันสุขภาพ เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก มีแม่ค้าบางท่านบอกว่า

เห็นตัวแทนแล้วนึกถึงคนมาทวงหนี้! เวลาทำประกันบอกแต่ข้อดี ข้อเสียไม่บอก และ
ไม่แจ้งว่า เมื่อชำระเงินตามจำนวนปีแล้ว จะยังถอนไม่ได้ และตัวแทนก็ไม่บอกว่าเมื่อชำระแล้วเงิน(เบี้ย)นั้น ยังอยู่ในกรมธรรม์เท่านั้นปี ถ้าถอน (เวนคืนกรมธรรม์) แม่ค้าขาดทุน
อีกสิ่งหนึ่งที่เข้าใจแม่ค้าที่ต้องการสื่อสาร คือภาษาในเล่มกรมธรรม์ แม่ค้าบอกว่า “อ่านเข้าใจยากที่ชาวบ้านทั่วๆไปจะเข้าใจ เป็นภาษาเฉพาะ เหมือนภาษากฎหมายก็ว่าได้”
และอีกท่านหนึ่ง แม่ค้าท่านนี้ให้ความคิดเห็นได้น่าสนใจเช่นกัน คือ “หลังทำประกันแล้ว ก็ไม่มีการอัพเดทอะไรเกี่ยวกับประกันเลย”
“จ่ายประกันสุขภาพครบปีพอดีไม่ต่อประกัน หลังจาก 5 วันที่กรมธรรม์หมดเป็นโควิดเลย! เสียดาย!”
หลากหลายความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการประกันภัยต่างๆ ผู้เขียนต้องเกริ่นก่อนนะคะว่า ประกันภัยนั้นมี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ประกันชีวิต กับประกันวินาศภัย ขยายความของการประกันชีวิต หมายถึง การประกันภัยที่มุ่งให้การคุ้มครองต่อการเสียชีวิตหรือการยังมีชีวิตอยู่ของบุคคล ส่วนประกันวินาศภัย หมายถึง หลักประกันเพื่อความคุ้มครองเมื่อเกิดอุบัติภัยหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมายไว้ล่วงหน้าคือ ซึ่งการประกันวินาศภัยนั้นจะมีหลากหลายแบบหากพูดแบบสรุปรวมก็คือนอกจากการประกันชีวิตแล้วก็ถือได้ว่าเป็นการประกันวินาศภัยทั้งสิ้น

ในบบทความนี้ เป็นไอเดียให้ผู้สนใจจะมีประกันชีวิตสักเล่ม ก่อนตัดสินใจซื้อ ควรรู้ 9 สิ่งนี้ คือ
1. วัตถุประสงค์ของการประกันชีวิต:
คุ้มครองรายได้ของครอบครัว เสาหลักของครอบครัว ที่หาเงินเข้าบ้าน เพื่อดูแลค่าใช้จ่าย ต่างๆของครอบครัว หากวันหนึ่งเขาทำงานไม่ได้ หรือ ทุพพลภาพ หรือแม้แต่เสียชีวิต การทำประกันชีวิตเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยลดภาระ ความเสี่ยง ได้มาก
ชำระหนี้สินที่ค้างชำระ เช่น ครอบครัวซื้อบ้านสักหลัง ต้องผ่อนชำระกับทางธนาคาร หรือกู้ธนาคารเพื่อมาทำธุรกิจ ประกันชีวิตจะเป็นตัวเลือกหนึ่ง ที่เราจะช่วยลดหนี้สิน ลงได้บ้าง
การศึกษาและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของบุตร หากเราวางแผนล่วงหน้าในเรื่องค่าใช้จ่ายการศึกษาของบุตร เราจะได้เตรียมตัวว่าจะเก็บเงินไว้ให้บุตรเท่าไร เมื่อถึงวาระที่ต้องจ่าย และเพื่ออนาคตของบุตรท่าน
ค่าใช้จ่ายในการจัดการศพและงานศพ เป็นสัจธรรมของธรรมชาติที่เราหนีไม่พ้นในเรื่องนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงคือ ถ้าเราจากไป ทำอย่างไรจะไม่ให้เป็นภาระคนอื่น แต่ละปีค่าจัดงานศพมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เรื่อย ๆ
ค่ารักษาพยาบาลกับ โรคเกิดใหม่ นั้นมีขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับวิวัฒนาการของเทคโนโลยีเช่นกัน ส่งผลให้การรักษาพยาบาล ที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกันชีวิตจะเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ผู้ซื้อประกันชีวิต เลือกแบบประกันที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเฉพาะที่นอกเหนือสวัสดิการของเราเอง ถือเป็นการลดความเสี่ยงให้ตัวเองได้บ้าง
ไลฟ์สไตล์ของตัวเอง แต่ละคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน ประกันชีวิตเราออกแบบได้ เพื่อให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของเรา เช่น ความสะดวกสบาย เครื่องมือการแพทย์บางอย่างที่ทันสมัย เราอาจจะมองความแตกต่างที่ประกันชีวิตจะเติมเต็มในการวางแผนชีวิต เพื่อใช้ชีวิตอย่างอุ่นใจ และลดความกังวลในความเสี่ยงลงได้

2.ประเภทของประกันชีวิต:
เป็นเสมือนสัญญาหลักเวลาที่เราจะเอาทุนประกันภัยกับทางบริษัทประกัน ซึ่งจะมี 4 แบบ
ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ: คุ้มครองตลอดชีวิตและมีมูลค่าเงินคืน เน้นคุ้มครองชีวิต โดยที่มีกำหนดระยะเวลาชำระ เมื่อครบชำระ ความคุ้มครองชีวิตยังคงอยู่
ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา: คุ้มครองในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น 10, 20 หรือ 30 ปี ไม่มีมูลค่าเงินคืน เสมือนคุ้มครองชีวิตในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัว หรือผู้ที่เป็นเสาหลักของครอบครัวที่ต้องทำงานหารายได้เข้าบ้าน
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์: มีมูลค่าเงินคืนและสามารถใช้เป็นการออมทรัพย์ การออมในรูปแบบประกันชีวิต เน้นการออมระยะยาว และมีวินัยในการออม เสมือนเรามีโครงการจะทำอะไรสักอย่างที่ต้องชำระเป็นเงินใหญ่ในจำนวนปี ที่ต้องการ แนะนำออมในแบบประกันชีวิต
ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์เพื่อการเกษียณ: มีมูลค่าเงินคืนและช่วยในการวางแผนการเกษียณ ถ้าใช้คำง่ายๆ จะคล้ายๆ เงินบำนาญ เมื่อชำระเบี้ย ครบอายุ60 ปี (ส่วนใหญ่ในสัญญา กรมธรรม์ เป็นอายุ 60 ปี) บริษัทจะคืนเป็น รายปีให้ ทำให้หมดกังวล ยามแก่ชรา

3.ความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกัน:
พิจารณาค่าเบี้ยประกันที่คุณสามารถจ่ายได้โดยไม่ทำให้เกิดภาระทางการเงิน คำนึงถึงความเหมาะสม ประกันชีวิตเป็นเครื่องมือ ลดความภาระในวัตถุประสงค์ที่เราทำประกันชีวิต อย่างน้อยดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
4.วงเงินคุ้มครอง:
คำนวณจำนวนเงินที่เพียงพอในการคุ้มครองครอบครัวและการชำระหนี้สิน วงเงินคุ้มครองมาก เงินที่ต้องชำระก็เพิ่มตามเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มองในภาพรวมก่อนว่าค่าใช้จ่ายจำเป็นอะไรบ้างที่เรามีส่วนต้องจ่ายแน่นอนก่อน อย่างน้อยไม่เป็นภาระให้คนอื่นที่มากเกินไป
5.สุขภาพและอายุ:
สุขภาพและอายุมีผลต่อค่าเบี้ยประกัน อายุที่น้อยและสุขภาพดีมักมีค่าเบี้ยประกันที่ต่ำกว่า

6.เงื่อนไขและข้อจำกัด:
อ่านและทำความเข้าใจเงื่อนไข ข้อจำกัด และข้อยกเว้นของกรมธรรม์ เป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อผลประโยชน์สูงสุดให้กับตัวเอง เวลาเราทำประกันชีวิต จะมี Free Look Period คือเรามีเวลาในการตรวจเช็คเอกสาร ทำความเข้าใจรายละเอียด จากแบบประกันที่เราทำไว้ ให้ครบถ้วน ภายใน 15 วัน หากไม่ตรงตามแบบที่ได้ออกแบบประกันไว้ สามารถแจ้งทางบริษัทประกันชีวิต หรือตัวแทนประกันชีวิต เพื่อยกเลิกกรมธรรม์ได้
7.ความยืดหยุ่นของกรมธรรม์:
พิจารณาความสามารถในการปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกกรมธรรม์หากสถานการณ์เปลี่ยนไป เป็นการเผื่อไว้กับสถานการณ์ นั่นคือการเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ ขยายความคือ ผู้เอาประกันไม่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยต่อไป ซึ่งระยะเวลาเอาประกันภัยเป็นไปตามระยะเวลาประกันภัยเดิม แต่จำนวนเงินเอาประกันภัย จะเท่ากับเงินเอาประกันภัยของกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำประกันชีวิต ที่เอื้อต่อผู้ซื้อประกันที่ต้องหารคุ้มครองชีวิต

8.บริษัทประกันภัย:
เลือกบริษัทที่มีชื่อเสียงและมีความมั่นคงทางการเงิน
9.คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ:
ขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษาทางการเงินหรือผู้เชี่ยวชาญด้านประกันชีวิตเพื่อช่วยในการตัดสินใจ และแนะนำในการออกแบบประกันชีวิตให้ เพราะการออกแบบประกันชีวิตมีหลากหลายแบบ การขอคำปรึกษากับทางตัวแทนที่เราไว้ใจ จะช่วยเราได้เยอะเลยค่ะ
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อย่างน้อยทำให้เราได้ตระหนักและเข้าใจ เกี่ยวกับประกันชีวิต ว่า เราทำประกันชีวิตด้วยจุดประสงค์อะไร ให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของเรา และได้ประโยชน์สูงสุดกับตัวเอง ในมุมมองหนึ่งประกันชีวิตนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงกับการวางแผนชีวิตเราแล้ว ประกันชีวิตเสมือนมาช่วยเติมเต็ม ความอุ่นใจ ลดความกังวลในการใช้ชีวิตในแต่ละย่างก้าวของชีวิตที่ไม่แน่นอน ดังนั้น เลือกแบบประกันชีวิต ให้เหมาะกับตัวเอง โดยอาจจะใช้ไอเดีย 9 สิ่งในบทความนี้ช่วยในการตัดสินใจทำประกันชีวิตสักเล่ม ประกันชีวิตจะไม่ทำงาน ถ้าอยู่ในสถานการณ์ปกติ เสมือนเป็นถังดับเพลิง เก็บไว้ในบ้าน วันใดเกิดเพลิงไหม้ สิ่งที่นึกถึงคือถังดับเพลิง นั่นคือ ประกันชีวิต
Writer(ผู้เขียน) :Better Call Nika
Comments